ด้วยที่โครงสร้างด้านในไม่สามารถปรับปรุงอะไรได้อีกต้องรื้อทิ้งอย่างเดียว ก็คงต้องใช้เวลา ก็เลยคิดว่า กลับไปรอบนี้ทำห้องน้ำห้องส้วมเอาไว้อาบน้ำขับถ่ายไว้เลยดีกว่า เพราะมาที่นี่ทีไรต้องใช้โถชักโครกเคลื่อนที่ก็ไม่สะดวกเอาเสียเลย รอบนี้คิดว่าวันหยุด 4 วันคงได้งานเป็นชิ้นเป็นอันเพราะเครื่องมือที่มีก็พร้อมที่จะช่วยทุ่นแรงได้เป็นอย่างมาก
ก่อนเดินทางได้เตรียมคิด วางแผนว่าจะทำอย่างไรไปมากพอสมควร และไปซื้อชักโครกจากโฮมโปร เพราะขนาดเล็ก ใช้น้ำน้อย ที่สำคัญน้ำหนักเบา ติดตั้งง่ายสำหรับคนแรงน้อยอย่างผู้เขียน แต่ปัญหาใหญ่ คือ ต้องขนกลับจากกรุงเทพฯ ไปน่านด้วยตนเอง จะให้ส่งถึงบ้าน ค่าส่งก็แพงพอควร และจะไปรับสาขาที่ใกล้บ้าน ใกล้สุดก็จังหวัดแพร่ ซึ่งห่างไป 120 กิโลเมตร สุดท้ายก็ขน และแยกส่วนเพื่อทอนน้ำหนักจาก น้ำหนักข้างกล่อง 31 กิโลกรัม ก็เหลือชิ้นใหญ่ประมาณ 20 กิโลกรัม ทำให้ยกง่ายขึ้น
หลังจากได้และแยกชิ้นแล้วก็มาวัดขนาด คิดหาวิธีติดตั้ง ทำเครื่องหมายตำแหน่งกึ่งกลางให้เรียบร้อย และแยกชิ้นส่วนเพื่อใส่ท้ายรถเก๋งได้สะดวก

เดินทางเย็นวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ไปถึงเด่นชัยประมาณ 03.00 น. ก็พักงีบก่อนสักเล็กน้อย แต่ก็งีบได้แค่ 10 กว่านาทีก็ต้องเดินทางต่อไปน่านอีกครั้ง ไปถึงที่สวนก็ 7 โมงกว่านิดหน่อย โทรบอกแม่ และขนอุปกรณ์และเครื่องมือที่นำมาจากกรุงเทพฯ ลงไปเก็บ จากนั้นก็ขนเอาเครื่องมือจากบ้านแม่ที่อยู่ห่างไปอีก 2 กิโลเมตร มาเพิ่มเติม

ปัญหาอย่างหนึ่งของอำเภอเล็กๆ คือ วัสดุุอุปกรณ์ต่างๆ หายากมาก เช่น ดอกไขควงขนาดยาว ต้องการใช้งานดอกขนาด 10cm หรือ 4" ไปสอบถามหลายร้านไม่มีเลย บางร้านบอกเหตุผลที่นี่เขาไม่ใช้กัน อยากได้สั้นมากที่สุด เพราะดอกแบบยาวจะทำให้เหวี่ยง ขันไม่ดี แต่สำหรับผู้เขียนแล้วต้องการไขควงที่ยาวขึ้นเพื่อขันในที่แคบได้ และลองถามหาดอกไขควงแบบ PZ หรือ PoziDriv คนขายทุกร้านส่ายหัวไม่รู้จัก รู้แต่แบบแฉกและแบบแบน หรือบล็อก 6 เหลี่ยมเท่านั้น
กะในใจแล้วว่าไม่มีแน่นอน เพราะดอก PZ นั้นเป็นดอกไขควงแบบพิเศษที่ออกแบบมาใช้กับสกรูที่ต้องการแรงขันมากขึ้น เช่น สกรูยึดไม้โครงขนาด 4" ซึ่งโดยทั่วไปสกรูงานไม้ที่ขายนั้นก็ยาวสุดที่ 3" แต่สำหรับสกรูยึดโครงนั้นต้องใช้ 4" หรือ 10cm. และเป็นหัวแบบ PoziDriv เพราะต้องการแรงบิดที่มากขึ้น

สำหรับหัวสกรูแบบ PZ นั้นเราสามารถใช้ดอกไขควงแบบ PH ได้ แต่ต้องระวังให้มากไม่เช่นนั้นทั้งดอกไขควงและหัวสกรูจะเยินเสียหายได้ แต่ถ้าเป็นดอก PZ โดยตรงนั้นจะมีส่วนที่ยื่นมาตรงกลางระหว่างแฉกเพื่อเข้าร่องของหัวสกรูได้ดี ช่วยให้กระชับมากยิ่งขึ้น
การปรับปรุงครั้งนี้ทำบนพื้นที่ส้วมซึมเก่าที่ทิ้งร้างนานมาแล้ว โดยทุบเอาคอห่านแบบปูนซีเมนต์สมัยโบราณทิ้ง และใส่ท่อ PVC 4" แทน ส่วนบ่อเกรอะเปิดดูแล้วยังใช้ได้ ลึกประมาณ 2 เมตร โดยด้านในใช้ท่อส้วมซึม 5 ท่อ ภายในแห้งสนิท ฝาท่อตัวท่อยังแข็งแรง สำหรับห้องน้ำครั้งนี้ทำชั่วคราวก่อนที่จะรื้อบ้านหลังนี้ในอนาคต โดยทำเป็นชักโครกและมีฝักบัวอาบน้ำ โดยเลือกใช้ไม้หน้าสามเป็นโครงสร้างหลัก เพราะสามารถประกอบได้เร็ว รื้อถอนได้ง่าย ใช้ในระยะเวลา 1-2 ปี ได้ไม่ผุพังเร็ว (อุปสรรคที่มี คือ ปลวกมีเป็นจำนวนมาก แก้ไขโดยฉีดยากันปลวก และคอยตรวจสอบเป็นระยะ)

หลังจากที่ตีโครงไม้สำหรับเทปูนเคลือบผิวหน้า ก็เลือกใช้ปูนมอตาร์ หรือปูนสำเร็จด้วยเหตุผล รวดเร็ว ผสมน้ำก็ใช้ได้เลย ด้วยที่ไม่ใช่ช่างมืออาชีพ ก็ลงมือทำกันเองสองสามี-ภรรยา ทำไปเรียนรู้ไป วิธีการปาดเรียบ แรกๆ ก็ติดขัด นานเข้าก็ชักจะคล่องมือ แบ่งเทสองส่วน เทไปตามกำลังที่มี เทปูนได้ครึ่งเดียวก็หยุดก่อนไปทำอย่างอื่นต่อ เราเองก็ไปต่อขยายท่อประปา และติดตั้งไฟฟ้าก่อนที่จะมืด ติดตั้งปลั๊กไฟให้เรียบร้อย ส่วนภรรยาก็ไปเตรียมทำกับข้าว และกลับไปอาบน้ำทานข้าวที่บ้านแม่ ตกกลางคืนกลับมาก็เทปูนกันต่ออีกสักพัก จนปูนหมด เดิมทีสั่งปูนสำเร็จมา 4 ถุง คำนวณแล้วก็จะพอ แต่ลืมคิดไปว่าขณะที่ทำนั้นก็แบ่งปูนไปฉาบก่อผนังที่ทุบออก และเทพื้นหลุมสำหรับวางท่อน้ำและท่อส้วมอีก ปูนเลยไม่พอด้วยประการฉะนี้
วันรุ่งขึ้นไปสั่งปูนเพิ่มมาอีก 2 ถุง แต่ก็ใช้ไป 1 ถุงเศษที่เหลือก็เอาไปอุดรอยแยก ปิดบ่อ และท่อส้วม
ระหว่างนั้นก็เตรียมไม้ทำโครงไปเรื่อยๆ ปูนก็ยังไม่แห้งดี ตกเย็นปูนด้านหน้าแห้งหมาดๆ แล้วก็ติดตั้งไม้โครง (งานนี้ดิบๆ เถื่อนๆ กันเลยทีเดียว ยึดโครงไม้ก็วัดระยะ 16" แต่ก็ไม่ได้เช็คฉาก กะๆ ให้ตรง โดยเข้ากับองศาที่ตัดด้านบนหลังคา (ตัดที่ 14 องศา) ผลที่ออกมาก็มี stud บางอันเอียงไม่ได้ฉากก็มี เอาเป็นว่าตอนนี้ขอให้ได้โครงก่อนค่ำก็แล้วกัน

หลังจากได้โครง 3 ด้านแล้วก็ยังเหลือด้านที่ 4 ที่ติดกับตัวบ้าน แต่ก็ไม่ทันแล้ว ใกล้จะค่ำเต็มที ฝนก็จะตกอีก เลยติดไม้อัดเพื่อยึดโครงและใช้บังเป็นห้องให้ใช้งานได้ก่อน อีกทั้งจะติดตั้งชักโครกคืนนี้อีก

ด้วยเวลาที่กระชั้นชิด และวางระยะไม้ stud ผิด ทำให้ติดตั้งไม้อัดไม่ลงตรงไม้โครง งานนี้เลยทำค้างไว้แค่นั้น เอาแค่กั้นบังตาไม่ให้คนภายนอกเห็นก็แล้วกัน (ฮา)
จากนั้นก็ไปซื้อกับข้าวและไปทานข้าว อาบน้ำที่บ้านแม่ ก่อนที่จะกลับมาติดตั้งชักโครกตอนกลางคืน
ประมาณ 20.00 น. เศษๆ ก็เริ่มลงมือผสมปูนยาแนว สำหรับปิดฐานชักโครก อ่านตามข้างถุง แล้วก็ติดตั้งตามที่ดูมาจากยูทูป เสร็จแล้วก็ปรับให้ตรงตามระดับน้ำ พื้นที่ทำไว้ลาดเอียงไปพอควร จึงต้องโปะยาแนวแล้วเอาแคมป์มาดันฝั่งที่ใกล้กับฝาผนังไว้และปล่อยทิ้งไว้ทั้งคืน เสร็จแล้วก็ไปเจาะฝาเพื่อเอาน้ำดีเข้ามา และใส่หัวเกลียวรอ เพราะไม่มีสต็อปเปอร์วาล์วเพื่อแยกน้ำไปสายชำระและท่อน้ำดี ต้องรอไปซื้อพรุ่งนี้
รุ่งเช้าตื่นมาหลังจากดื่มกาแฟเสร็จก็ไปติดถังน้ำและไปหาซื้อสามทางเพื่อแยกน้ำ ไปร้านค้าในหมู่บ้าน ยังไม่แปดโมงเช้า ร้านไม่เปิดก็เดินกลับ หลังแปดโมงไปอีกทีร้านเปิด แต่คนขายไม่รู้ไปไหน เดินตามหาก็ไม่เจอ ก็ต้องไปหาซื้อที่ตลาดในตัวอำเภอ เมื่อได้แล้วติดตั้งเสร็จก็เอาแค่นี้ก่อน ก่อนที่จะเตรียมตัวกลับ กทม. ต่อไป

สำหรับงานนี้ถือว่าได้ลองลงมือปฏิบัติครั้งแรก นับตั้งแต่เริ่มศึกษาเรื่องการสร้างบ้านหลังเล็กตามแบบของตะวันตกที่ขึ้นโครงเคร่าใช้ไม้ stud ก็ได้เรียนรู้หลายอย่าง และถือว่างานที่ออกมาสอบตกอย่างสิ้นเชิง คะแนน 100 ได้แค่ 40 เท่านั้น คือได้คะแนนที่สามารถใช้งานได้ แต่ยังไม่เรียบร้อย
ฝาผนังยังใช้ไม้อัดขนาด 4mm ปิดบังไว้เท่านั้น ตามความต้องการแต่แรก คือ ใช้ไม้อัดบางแปะยึดโครงเคร่าไว้ แล้วใช้แผ่นซีเมนต์บอร์ดปิดทับอีกทีป้องกันน้ำทำลายไม้อัด แล้วค่อยทาสีทับ (หากแผ่นซีเมนต์แตกก็ยังมีไม้อัดกั้นอีกชั้นหนึ่ง) วิธีการก็ยึกไม้อัดและแผ่นซีเมนต์บอร์ดด้วยกาวตะปูก่อน พอกาวแห้งก็เอาไปติดกับโครงเคร่า (แต่คิดๆ ไปแผ่นไม้ก็จะหนักขึ้น เลยคิดว่าจะตัดครึ่งให้เป็น 4x4 ฟุตแทน จะได้ยกง่ายขึ้นน้ำหนักไม่มาก)
ด้านในก็ต้องใช้ไม้อัดกับซีเมนต์บอร์ดปิดไว้ พร้อมใช้ซิลิโคนหรือยาแนวอุดไว้ไม่ให้ไม้โดนน้ำโดยตรง และพื้นจะปูกระเบื้องเพื่อให้อาบน้ำได้สะดวก ส่วนทางชักโครกจะปูไม้พื้นเทียม แต่ก็ติดตั้งชักโครกไปแล้ว ทำให้ต้องแก้ไขรูปแบบต่อไป อาจจะตัดพื้นให้ตรงตามรูปของชักโครกแปะไว้อีกที ก็ถือว่าเอาไปแก้ไขครั้งหน้า ครั้งนี้เอาแค่ให้ย่าเข้าไปใช้งานได้สะดวกก่อน
ปัญหาใหญ่ที่ได้เรียนรู้
เรื่องใหญ่สุดที่เป็นประสบการณ์ คือ การวางโครงสตั๊ดที่ใช้ระยะ 16" O.C. (On center) คือเป็นระยะมาตรฐานของงานโครงไม้ แต่จะต้องวัดจากขอบ อันนี้เกิดจากการศึกษาแล้วละเลย ไม่ได้คิดตาม พอตอนวัด (ดูจากรูป 6) ผู้เขียนวัดจากด้านใน แทนที่จะวัดจากด้านนอก กลับมาทบทวนก็คิดหาเหตุผลว่าทำไมต้องวัดแบบนั้นไม่ออก แต่ก็เป็นเพราะไม่ถ่องแท้ การวัดจะเริ่มจากขอบด้านนอกสุด แล้ววัดมาด้านใน 16" แล้วก็ขีดไว้ และวางโครงต่อไปที่ 32", 48" ก็จะลงตัวที่ 4 ฟุต และวางแผ่นไม้อัดได้พอดีตรงกลาง และวัดไปอีกถ้ามีแผ่นต่อไป และไม้โครงอันสุดท้ายของระยะ 8 ฟุตนั้นจะไม่ใช่ O.C. แต่จะวางชิดเส้นเข้ามาด้านใน ถ้าทำเช่นนี้ก็จะวางไม้อัดพอดีในระยะ 8 ฟุต

ข้อผิดพลาดอีกประการหนึ่ง คือ ไม่เช็คฉากตอนที่ยึดไม้ stud กับไม้ที่เป็นฐานหลังคา หรือด้านที่ตัดตามองศา ด้วยเวลากระชั้นชิด และไม่มีเวลาคิดละเอียด จึงกะๆ เอา เมื่อถ่ายรูปออกมาจะเห็นว่าไม้โครงบางอันตั้งแบบเอียงอย่างเห็นชัด

งานต่อไป
- รื้อโครงไม้วางตำแหน่งให้ถูกต้องและได้ฉาก
- ติดผนังสองด้านด้วนไม้อัดและแผ่นซีเมนต์บอร์ด
- เพิ่มผนังด้านชิดตัวบ้าน
- ติดตั้งประตู
- เปลี่ยนหลังคาเป็นแผ่นใส
- ปูพื้นกระเบื้องในบริเวณอาบน้ำ
- ปูพื้นไม้เทียมส่วนที่เป็นชักโครก
- ใช้ไม้อัดปิดส่วนหลังคาให้เรียบร้อยและติดตั้งไฟใหม่
ค่าใช้จ่าย
- ไม้หน้าสาม 21x145 = 3,045 บาท
- ชักโครก 1,690 บาท
- ปูน 5x110 = 550 บาท
- ประตู PVC รวมวงกบและลูกบิด 1,650 บาท
- งานประปาประมาณ 800 บาท
- งานไฟประมาณ 1,000 บาท
- อื่นๆ ซื้อของจิปาถะประมาณ 2,000 บาท
รวมเป็นเงินประมาณ 10,735 บาท
ระยะเวลา
10/8/66
- 11.00 น. ไปสั่งปูน ประตู และไม้โครง
- 13.00 น. ตรวจสอบบ่อเกรอะ และขุดวางท่อ 4"
11/8/66
- 07.00 น. เดินท่อประปาเพิ่ม ต้องไปซื้อข้อต่อเพิ่มอีก
- 10.45 น. เคลียร์พื้นที่ เจาะพื้นวางท่อน้ำทิ้งขนาด 2"
- 13.00 น. เดินสายไฟและปลั๊กมาที่บริเวณงานเพื่อใช้ไฟ์ส่องสว่าง
- 15.00 น. เทปูนจนถึง 18.00 น.
- 20.00 น. เทปูนต่ออีกนิดหน่อยจนปูนหมด
เก๊าท์กำเริบที่ข้อเท้าด้านขวาจนเดินแทบไม่ได้ ตกเย็นเหมือนจะเป็นไข้ กินยาแล้วก็ยังไม่หายปวด
12/8/66
- 10.00 น. ไปซื้อปูนเพิ่ม และเทปูนส่วนที่เหลือ เริ่ม 13.00 น.
เก๊าท์ลดลง เดินได้แต่ขยับข้อเท้ามากไม่ได้
13/8/66
ตามกำหนดต้องเดินทางกลับวันนี้แล้ว กะว่าจะรีบเคลียร์ให้ได้บางส่วน ที่เหลือก็ต้องมาทำใหม่ครั้งหน้า แต่ตอนนี้อุปสรรคใหญ่หลวงมาก คือ เก๊าท์กำเริบที่ข้อเท้าด้านขวา (ปกติจะเป็นด้านซ้าย) เดินได้แต่ขยับข้อไม่ได้ ทานยารอดูอาการแต่ยังไม่ดีขึ้น เลยฝืนเดินกระเผกๆ ไปทำโน่นทำนี่ต่อ กะว่าถ้าดีขึ้นตอนเย็นก็จะกลับ กทม. ไปแวะนอนตามปั๊มต่อไป
- 09.00 น. ตัดไม้ทำโครงฝาผนัง
- 17.00 น. ติดฝาผนังไม้อัด
- 20.30 น. ติดตั้งชักโครก
เก๊าท์ยังไม่ดีขึ้น ถึงแม้จะกินยาแต่น่าจะมาจากการเดินไปมาไม่ได้พัก ทำให้ไม่สามารถขับรถกลับ กทม. ได้ในวันนี้ จึงโทรลางานเพิ่มอีก 1 วัน
14/8/66
เก๊าท์ลดลง แต่ก็รอดูอาการหลังกินยา
- เก็บงานตอนเช้าติดสายน้ำดีและสายชำระ
- เก็บเครื่องมือไปเก็บไว้ที่บ้านแม่
- เดินทางกลับ กทม.